MULTIMEDIA AND E-SPORTS

 

 

หลักสูตรสาขาวิชามัลติมีเดียและอีสปอร์ต คณะวิทยาศาสตร์

     วิทยาการด้านเทคโนโลยีมัลติมีเดียมีบทบาทสำคัญในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการบริการ และยังเป็นตัวกำหนดความได้เปรียบในการแข่งขันเพราะในปัจจุบันนี้ผู้ที่มีข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเชื่อถือได้และเป็นปัจจุบันที่สุดจะเป็นผู้ได้เปรียบคู่แข่งขัน จึงทำให้ระบบตลอดจนเครือข่ายข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักบริหาร นักวางแผน นักพัฒนา เพื่อใช้ประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายวางแผนพัฒนาและการตัดสินใจ ดังจะเห็นได้จากรัฐบาลได้ให้ความสำคัญของข่าวสารเป็นอย่างมาก โดยกำหนดเป็นนโยบายในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในการพัฒนาการเกษตรให้มีการปรับปรุงและพัฒนาขีดความสามารถของระบบ การเผยแพร่การบริการข่าวสารการเกษตรและวิทยาการที่ทันสมัยโดยกำหนดขอบข่ายและหน่วยงานรองรับอย่างชัดเจนในระดับประเทศและระดับพื้นที่ในด้านพัฒนาอุตสาหกรรมการค้าและบริการให้มีพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารการค้าให้มีประสิทธิภาพและเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาการค้าของประเทศ ในด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มีการพัฒนาระบบทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยจัดระบบและเครือข่ายให้เชื่อมโยงกันอย่างกว้างขวางเพื่อสามารถให้บริการข้อสนเทศให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้มีการเผยแพร่และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ข้อมูลมากขึ้น
     การเพิ่มขึ้นของผู้เชี่ยวชาญด้านบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีมัลติมีเดียมิได้สอดคล้องกับสังคมที่เปลี่ยนไปหากแต่อยู่ในสภาพการขาดแคลนบุคลากรทางด้านนี้สูงมาก โดยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้ให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าว ดังที่ปรากฏแนวนโยบายด้าน ICT และทิศทางของแผนแม่บทเทคโนโลยีและการสื่อสารของประเทศไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2552 - 2556 ที่ได้กำหนดพันธกิจและยุทธศาสตร์ เกี่ยวกับการพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพและปริมาณเพียงพอซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลสภาพความขาดแคลนบุคลากรที่ปรากฏตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา คือในปี พ.ศ.2538 ขาดแคลนประมาณ 300 คน และมีจำนวนความขาดแคลนสะสมจากอดีตที่ผ่านมารวมทั้งสิ้น 4,500 คน และจะขาดแคลนสะสมเป็น 31,000 คน ในปี พ.ศ.2549 (รายงานการศึกษา เรื่อง แนวทางการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีมัลติมีเดียของประเทศไทย โดยสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ) ซึ่งส่งผลต่อเนื่องสอดคล้องกับข้อมูลสถิติจำนวนบุคลากรด้านเทคโนโลยีมัลติมีเดียที่ขาดแคลน จำแนกตามกลุ่มอาชีพและตำแหน่งและหมวดอุตสาหกรรมทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2550 ที่สำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่ยังคงปรากฏจำนวนบุคลากรที่ขาดแคลนกว่า 5,000 คน ซึ่งรวมไปถึงหน่วยงานในอุตสาหกรรมด้าน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่นำไปสู่การพัฒนาประเทศในปัจจุบัน ดังจะเห็นจากการส่งเสริมจากภาครัฐบาลที่มีหน่วยงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ ซึ่งรวมไปถึงเทคโนโลยีมัลติมีเดียและการพัฒนาเกม การพัฒนาบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีมัลติมีเดีย จึงจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศต่อไป
แนวคิดของการพัฒนาหลักสูตรเกิดจากความต้องการบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถในสาขาเทคโนโลยีมัลติมีเดียและความเจริญเติบโตทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของสังคมในปัจจุบัน อันนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงและรูปแบบวิถีชีวิตและการทำงาน กระบวนการผลิต ทั้งในด้านการผลิตสื่อต่างๆ ในการดำเนินการงานหลักของอุตสาหกรรมและการดำเนินงานธุรกิจทางด้าน ที่เกี่ยวข้องมากขึ้น ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบัน ทำให้สังคมมีความต้องการบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีมัลติมีเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาวิชาเทคโนโลยีมัลติมีเดียที่ในปัจจุบันยังคงขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญในการประกอบวิชาชีพด้านเทคโนโลยีมัลติมีเดีย
     มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ในฐานะที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาของท้องถิ่นมีภารกิจที่จะต้องผลิตบุคลากรเพื่อรองรับการพัฒนาทุกๆด้านโดยเฉพาะมีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น ตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2538 ที่กล่าวว่า “ให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการวิจัยให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ปรับปรุงถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยีมัลติมีเดียและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ผลิตครูและส่งเสริมวิทยฐานะครู”
     มหาวิทยาลัยราชภัฏมีความพร้อมทั้งในด้านบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและความชำนาญในด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี มีอาคารสถานที่ อุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ การจัดการที่พร้อมสำหรับการวิจัยและการจัดการเรียนการสอน สามารถเปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีมัลติมีเดียเพื่อผลิตบุคลากรที่ขาดแคลน ดังนั้นมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษมจึงมีแนวคิดในการพัฒนาหลักสูตร ปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีมัลติมีเดีย เพื่อให้สาขาวิชาดังกล่าวเป็นสาขาที่มีความทันสมัย ตอบสนองความต้องการการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีมัลติมีเดีย ควบคู่กับการพัฒนาของโลกด้านนวัตกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ตามที่มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษมได้เสนอหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีมัลติมีเดีย (หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2554) เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาพิจารรณารับทราบการให้ความเห็นชอบ รายละเอียดตามหนังสือ ที่ ศธ 0562.10/0024 ลงวันที่ 12 มกราคม 2555 นั้น
สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาได้พิจารณารับทราบการให้ความเห็นชอบ หลักสูตรดังกล่าว เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2555